บุคคลสำคัญทางการเมืองของจังหวัดสตูล

                                            บุคคลสำคัญทางการเมืองของจังหวัดสตูล

                                           พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ (ตุ๋ย บินอับดุลลาห์)
           ประวัติ
           อำมาตย์เอกพระยาสมันตรัฐบุรินทร์ (บุรินทร์ สมันตรัฐ) เดิมชื่อ ตุ๋ย บินอับดุลลาห์ เป็นบุตรคนที่ 12 ของหลวงโกชาอิสหาก และนางเลี้ยบ บินอับดุลลาห์ เกิดวันที่ 20 มกราคม 2414 ที่ตำบลบางลำพูล่าง อำเภอคลองสาน จังหวัดธนบุรี  บิดาของท่านสนิทสนมกับบรรดาสุลต่านทางมาลายู เป็นอย่างดี เมื่ออายุ 8 ขวบ เจ้าเมืองปะลิสขอตัวไปอุปการะเป็นบุตรบุญธรรม ได้เข้าเรียน ณ วัดบางลำพูล่าง จังหวัดธนบุรี ใช้เวลาเรียนภาษาไทย 3 ปี แตกฉาน อ่านออกเขียนได้และกลับจากปะลิส ได้มาอยู่ที่กรุงเทพกับบิดา ท่านได้ศึกษาระเบียบบริหารราชการต่าง ๆ เพราะบิดามีความประสงค์ให้ท่านรับราชการต่อไป
            ปี พ.ศ.2432 อายุ 18 ปี เป็นล่ามมาลายู สังกัดกลาโหม
            ปี พ.ศ.2439 ได้รับยศเป็นขุนราชบริรักษ์ มณฑลปัตตานี
            ปี พ.ศ.2441 ดำรงตำแหน่งนายอำเภอเบตง
            ปี พ.ศ.2455 ดำรงตำแหน่งปลัดเมืองสตูล
            ปี พ.ศ.2457 ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล
            ปี พ.ศ.2472 เกษียณอายุราชการ
            ผลงานหรือเกียรติคุณที่ได้รับ
            ปี พ.ศ.2476 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดสตูล เป็นคณะรัฐมนตรีในรัฐบาล ปี พ.ศ.2478 มีการตั้งรัฐบาลใหม่ ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นคณะรัฐมนตรี ในรัฐบาลของพลเอกพระยาพหล พลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ปี พ.ศ.2480 ได้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงมหาดไทย และปี พ.ศ.2491 ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งขณะนั้นท่านอายุ 77 ปี และถึงแก่กรรม ปี พ.ศ.2506
            ด้านการศึกษา ได้ขยายโรงเรียนประถมศึกษา ไปตำบลต่าง ๆ เร่งจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเล็งเห็นโรงเรียนควรมีเนื้อที่มาก จะสะดวกในการเรียนการสอนการเกษตร แก้ไขความเชื่อผิดที่ว่าชายหญิงเรียนร่วมกันจะเป็นบาป เป็นบิดาการประถมศึกษาเมืองสตูล 

                                                       นายเจ๊ะอับดุลลาห์  หลังปูเต๊ะ
                เกิดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2433  ณ บ้านทำเนียบ ตำบลโกตา อำเภอละงู  จังหวัดสตูล บิดาชื่อนายมูฮำหมัด  สะอาด  มารดาชื่อนางเจ๊ะรอมะห์
                ประวัติการศึกษา  ได้ศึกษาด้านภาษามลายู  สำเร็จชั้น 3  และมีความสนใจภาษาไทยมาก  ได้พยายามศึกษาจนอ่านออกเขียนได้
                ประวัติการทำงาน
                พ.ศ. 2448  อายุ 14 – 15 ปี  เข้ารับราชการเป็นเสมียนศาลแขวงละงูได้ปีเศษ  ก็ลาออกจากราชการ  เพื่อประกอบอาชีพค้าขายทั้งในและต่างประเทศ
พ.ศ.2463  เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ชีนารุชามัน แห่งเกาะสุมาตรา อินโดนีเชียต่อมาเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์อีดารันชามัน  หนังสือพิมพ์ราชามัน  หนังสือพิมพ์ปะหัตราและปีนัง
พ.ศ.2473  มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นดาโต๊ะยุติธรรมประจำศาลจังหวัดสตูล
               ผลงานด้านการเมือง
               วันที่ 6 มกราคม 2489  ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
               วันที่ 29 มกราคม 2491ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นสมัยที่ 2
               วันที่ 26  กุมภาพันธ์ 2495  ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นสมัยที่ 3 และได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
               วันที่ 15 ธันวาคม 2500  ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
               ผลงานอื่นๆ  เป็นกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย
                                                   วันที่  25  พฤศจิกายน 2529  ถึงแก่อนิจกรรม

                                                              นายชูสิน โคนันทน์
               นายชูสิน โคนันทน์  เป็นชาวจังหวัดสงขลา เกิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2466 บิดามารดาชื่อ นายเบ่าหิ้น นางเสงี่ยม โคนันทน์ มีบรรพบุรุษเป็นพ่อค้า ตระกูลโคนันทน์ ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 นายชูสิน โคนันทน์ สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนมหาวชิราวุธ แล้วไปศึกษาต่อที่ปีนัง เพื่อฝึกฝนด้านภาษาอังกฤษ  นายชูสิน    โคนันทน์ มาตั้งถิ่นฐานที่จังหวัดสตูล เมื่อปี พ.ศ. 2491 ที่บ้านทุ่งตำเสา ตำบลทุ่งนุ้ย ประกอบอาชีพทำไม้แปรรูปและตั้งโรงเลื่อย เมื่อมีฐานะมั่นคงแล้วได้หันชีวิตมาทางด้านการปกครองท้องถิ่นและด้านการเมือง ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้าน กำนัน สมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาเทศบาลเมืองสตูล และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูลโดยลำดับ
               ฐานะนักการเมืองท้องถิ่น นายชูสิน โคนันทน์ ได้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองสตูลหลายสมัย สร้างผลงาน เช่น ริเริ่มก่อสร้างตลาดสดเทศบาลเมืองสตูล สร้างเมรุเผาศพวัดสตูลสันตยาราม วางพื้นฐานการศึกษาของโรงเรียนในเทศบาล เป็นต้น
นายชูสิน โคนันทน์ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูล 3 สมัย ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติและได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่อยู่ 2 ปี
            ด้านการช่วยเหลือสังคม
            นายชูสิน โคนันทน์ ได้บริจาคทรัพย์ช่วยเหลือโรงเรียน วัด และมัสยิดเป็นประจำ โรงเรียนบ้านทุ่งตำเสา  นายชูสิน โคนันทน์ เจ็บป่วยกะทันหันระหว่างการปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และพักรักษาตัวเป็นเวลานานได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2545 อายุได้ 79 ปี

ข้อความนี้ถูกเขียนใน การจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์จังหวัดสตูล คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น