คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน

                                               คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
1  ความเป็นมาของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
         การบริหารโรงเรียนเป็นภาระหน้าที่ของผู้บริหารและครู อาจารย์ที่ต้องปฏิบัติเพื่อพัฒนา
การเรียนของนักเรียนให้เกิดความรู้และคุณลักษณะที่ต้องการในสภาพปัจจุบันสังคมเปลี่ยนไปสิ่งแวดล้อมรอบโรงเรียนเปลี่ยนไป ทำให้ผู้บริหารและครู อาจารย์ต้องรู้จักการจัดการมากขึ้นและที่สำคัญต้องนำเอาความร่วมมือของชุมชนรอบโรงเรียนมาช่วยจัดการศึกษา ต้องดึงเอาศักยภาพของชุมชนมาพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนมากขึ้น ผู้บริหารต้องเป็นผู้สร้างความสัมพันธ์กับชุมชน เป็นผู้นำชุมชนจึงจะสามารถทำให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในโรงเรียนอย่างมีคุณภาพ ในอดีตศูนย์กลางการศึกษาอยู่ในชุมชน มีวัดบ้าน ร่วมกันจัดการศึกษา ไม่มีกฎเกณฑ์ระเบียบปฏิบัติที่ชัดเจน แต่เป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในสังคมนั้นครั้งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้ทรงส่งเสริมให้มีการจัดการศึกษาที่มีระบบระเบียบปฏิบัติที่แน่นอนมากขึ้น ทรงจัดตั้งโรงเรียนประชาบาลขึ้นมีกรรมการตำบล 3 คน เป็นผู้ดูแล ประกอบด้วย กำนัน เจ้าอธิการวัดและแพทย์ประจำตำบล มีหน้าที่ดูแลโรงเรียน (กระทรวงศึกษาธิการ, 2543 หน้า 8)
          ในปี พ.ศ. 2524 ได้มีประกาศใช้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาประจำโรงเรียนประถมศึกษา พุทธศักราช 2525 โดยมีสาระสำคัญที่กำหนดแนวทางการสรรหา จำนวนกรรมการ คุณสมบัติ วาระและการพ้นตำแหน่ง รวมทั้งได้กำหนดบทบาทหน้าที่ไว้อย่างชัดเจน
ในปี พ.ศ. 2539 กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดให้มีระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยคณะกรรมการโรงเรียนประถมศึกษา พุทธศักราช 2539 เพื่อให้เกิดผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม และเมื่อประกาศใช้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยคณะกรรมการโรงเรียนประถมศึกษา พ.ศ. 2539แล้ว ได้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานและผลการดำเนินงานมากมายซึ่ง สมประสงค์ วิทยเกียรติและคณะ (2543 : บทคัดย่อ) ยังวิจัยพบว่า ปัจจุบันประชาชนมีความสนใจ ในเรื่องการศึกษาเป็นอย่างมากโดยประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาในรูปของการเป็นกรรมการด้านการศึกษามากขึ้น โรงเรียนจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้กับผู้ปกครองและชุมชน ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาด้วยการฝึกอบรม ประชุมสัมมนา มีการกำหนดนโยบายที่แน่ชัด และมีระเบียบกฎหมายรองรับการเสริมสร้างการมีส่วนร่วม
ต้องส่งเสริมด้วยความเต็มใจจึงจะเกิดผลเป็นรูปธรรม ในขณะที่ชุมชนมีความต้องการเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นทุกประเด็นและทุกกิจกรรม และมีความเป็นไปได้ที่ชุมชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา การบริหารและการจัดการ รวมทั้งการระดมทรัพยากรบุคคลและทรัพยากรอื่นส่วนประเด็นของการมีส่วนร่วมของชุมชนต่อการจัดการศึกษาในอนาคต ตามแนวพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มีลักษณะของการมีส่วนร่วมของชุมชนใน 4 ด้าน ได้แก่
            1. ด้านวิชาการ เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองและชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ ร่วมเป็นวิทยากรเกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่น
            2. ด้านการจัดการและสนับสนุนงบประมาณ ผู้ปกครองและชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดเก็บภาษีเพื่อการศึกษา ร่วมช่วยเหลือเรื่องทุนการศึกษา
            3. ด้านครูและบุคลากร ผู้ปกครองและชุมชนมีส่วนร่วมในการเข้ามาเป็นคณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคลากร
            4. ด้านการบริหารทั่วไป ผู้ปกครองและชุมชนมีส่วนร่วมในการวางแผน กำหนดนโยบาย จัดทำธรรมนูญโรงเรียน กำหนดวิสัยทัศน์ และการจัดทำแผนพัฒนาโรงเรียน เป็นต้น
          กองนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ( 2543 : 74 )ได้กล่าวถึงการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชนในการจัดการศึกษาของโรงเรียน ในลักษณะของการร่วมกำหนดแนวทางการจัดการศึกษา การจัดทำธรรมนูญโรงเรียน การสนับสนุนให้ความร่วมมือในการจัดการศึกษา ร่วมติดตามประเมินผลการดำเนินงาน ร่วมเสนอแนะให้ข้อคิดเห็นในการปรับปรุง ติดตามผลการปฏิบัติงาน การตรวจสอบการทำงานของโรงเรียน รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการประกันโอกาสทางการศึกษา ประกันคุณภาพการศึกษาซึ่งการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชนได้ส่งเสริมให้การบริหารงานของโรงเรียนมีความสำเร็จมากขึ้น นักเรียนเกิดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น ในส่วนของรูปแบบการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการศึกษาของโรงเรียนพบว่ารูปแบบการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ
( 2543 : 75 – 77 )
            1. ร่วมกำหนดนโยบายของโรงเรียน
            2. ร่วมจัดทำแผนงานและโครงการของโรงเรียน
            3. ร่วมพัฒนาอาคารสถานที่และบริเวณโรงเรียน
            4. ร่วมดูแลความประพฤติของนักเรียน
            5. ร่วมระดมทรัพยากรเพื่อการพัฒนาโรงเรียน
            6. ร่วมกิจกรรมการเรียนรู้และเป็นแหล่งการเรียนรู้ของครู อาจารย์และนักเรียน
          จากที่กล่าวมาพบว่า ชุมชนมีความต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของโรงเรียน เพื่อเป็นหลักประกันให้แก่บุตร หลานของตนที่จะได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพและเป็นไปตามความต้องการของผู้ปกครองและชุมชนในท้องถิ่น ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ
พ.ศ. 2542 ที่เน้นหลักการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของชุมชนการกระจายอำนาจ
ในการจัดการศึกษารวมทั้งการพัฒนาองค์กรชุมชนให้เข็มแข็งสามารถพึ่งตนเองได้ทำให้กระทรวงศึกษาธิการประกาศใช้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยคณะกรรมการสถานศึกษา
ขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2543 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 ที่เน้นการมีส่วนร่วมของบุคคลในชุมชนหลายฝ่ายให้เข้ามามีส่วนร่วมกับโรงเรียนในการจัดการศึกษาของชุมชน ซึ่งในปัจจุบันคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานได้เข้ามามีบทบาทที่สำคัญมากต่อการจัดการศึกษา และการจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียนกับตัวแทนของชุมชนท้องถิ่น นับวันจะเพิ่มความสำคัญมากขึ้นทั้งนี้เพราะการบริหารและจัดการศึกษาที่ผู้จัดการศึกษาและผู้รับผลประโยชน์ได้มีความเข้าใจวิธีการดำเนินงานที่ตรงกัน ได้ร่วมคิดวางแผนตั้งแต่ต้นได้ลงมือปฏิบัติพร้อมกัน และได้มีส่วนกำกับติดตามการดำเนินงานด้วยกันอย่างสม่ำเสมอ จึงส่งผลให้การบริหารสถานศึกษาแบบมีส่วนร่วม ของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีความสำเร็จเพิ่มพูนขึ้นตามลำดับ

2 ความสำคัญของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
        การเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกิจกรรมทางการศึกษากับโรงเรียน โดยหลักการนำเอากิจกรรมของชุมชนเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนแบบบูรณาการ ด้วยการประสานความรู้สึกที่ดีต่อกัน และเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองและชุมชนหรือคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เข้ามามีส่วนร่วมบริหารงานทางการศึกษาของโรงเรียนในด้านต่าง ๆ ได้แก่
( ถวิล มาตรเลี่ยม, 2544 หน้า 83-84)
            – ร่วมวิเคราะห์ความต้องการของโรงเรียน
            – ร่วมกำหนดวิสัยทัศน์และแผนพัฒนาโรงเรียน
            – ร่วมนำเสนอกิจกรรมการพัฒนาคุณภาพโรงเรียน
            – ร่วมพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน
            – ร่วมพัฒนาคุณภาพแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน
            – ร่วมพัฒนาศักยภาพของโรงเรียน
            – ร่วมติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานของโรงเรียน
ความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนโดยคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ผู้บริหารโรงเรียนมีความมุ่งหวังในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของบุตรหลานในชุมชนให้เกิดคุณภาพสูงสุด ท่านต้องปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ในการบริหารสถานศึกษา โดยมองปัจจัยที่จะนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่โรงเรียน นักเรียนและครู อาจารย์ คือการเปิดโอกาสและสร้างโอกาสให้คณะกรรมการสถานศึกษา
ขั้นพื้นฐานและชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารการศึกษาอย่างจริงจังและเป็นระบบ สร้าง
กลยุทธ์ในการพัฒนาโรงเรียนด้วยการ นำกิจกรรมของชุมชนเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน
นำนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมกับชุมชนถือเสมือนว่า ชุมชนคือโรงเรียนแห่งที่สองของครู อาจารย์และนักเรียน
           การเปิดโอกาสให้คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเข้ามาร่วมพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน ในบทบาทครูภูมิปัญญาชาวบ้าน และบทบาทต่าง ๆ โดยคาดหวังว่าจะทำให้โรงเรียนเป็นที่ยอมรับของผู้ปกครองและชุมชน นักเรียนได้รับการดูแลเอาใจใส่ ครู อาจารย์เป็นที่ยอมรับของชุมชนมากขึ้น นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้น ครู อาจารย์มีคุณภาพมากขึ้น และโรงเรียนได้รับการพัฒนามากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการความร่วมมือกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจึงจะช่วยให้ระบบการศึกษาไปพัฒนาคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงต้องเร่งรัดให้มีการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาให้สังคมชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ดังปรากฏข้อความในมาตรา 9(6) แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่กล่าวถึงการจัดระบบโครงสร้างและกระบวนการจัดการศึกษาให้ยึดหลักการมีส่วนร่วมของบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่นอีกด้วยและผลการดำเนินงานการมีส่วนร่วมของ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษามากขึ้น สถานศึกษาหลายแห่งมีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารโรงเรียนที่มาจากผู้ปกครองและชุมชนอย่างเต็มรูปแบบ รวมทั้งการเปิดโอกาสและส่งเสริมให้ผู้ปกครองและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของโรงเรียนมากขึ้นตามลำดับ และส่งเสริมแนวทางการจัดการศึกษาให้ การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกเวลาทุกสถานที่ มีการประสานความร่วมมือกับบิดามารดาผู้ปกครอง และบุคคลในชุมชนทุกฝ่ายเพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ โดยนำประสบการณ์ ความรอบรู้ ความชำนาญ และภูมิปัญญาท้องถิ่นของบุคคลในชุมชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาของนักเรียน

3 บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
        คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นบุคคลที่มีความเสียสละและอุทิศตนเพื่อเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาการศึกษาของชุมชนและท้องถิ่น ตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2543 และได้รับการแต่งตั้งจากผู้บังคับบัญชาเหนือสถานศึกษาขึ้นไปอีกหนึ่งระดับ ที่กำหนดให้ทำหน้าที่กำกับ และส่งเสริมสนับสนุนกิจการของสถานศึกษา ดังนี้
             1) กำหนดนโยบายและแผนพัฒนาของสถานศึกษา
             2) ให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการประจำปี
             3) ให้ความเห็นชอบในการจัดทำสาระหลักสูตร ให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น
             4) กำกับและติดตามการดำเนินงานตามแผนของสถานศึกษา
             5) ส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กทุกคนในเขตบริการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึง มีคุณภาพและได้มาตรฐาน
             6) ส่งเสริมให้มีการพิทักษ์สิทธิเด็ก ดูแลเด็กพิการ เด็กด้อยโอกาสและเด็กที่มีความสามารถ พิเศษให้ได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพ
             7) เสนอแนวทางและมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการด้านวิชาการ ด้านงบประมาณด้านการบริหารงานบุคคล และด้านการบริหารทั่วไปของสถานศึกษา
            8) ส่งเสริมให้มีการระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา ตลอดจนวิทยากรภายนอกและภูมิปัญญา ท้องถิ่น เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการของนักเรียนทุกด้าน รวมทั้งสืบสานจารีตประเพณี ศิลปะและ วัฒนธรรมของท้องถิ่นและของชาติ
           9) เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถานศึกษากับชุมชน ตลอดจนประสานงานระหว่างองค์กรภาครัฐและเอกชน เพื่อให้สถานศึกษาเป็นแหล่งวิทยาการของชุมชน และมีส่วนในการพัฒนาชุมชนและท้องถิ่น
          10) ให้ความเห็นชอบรายงานผลการดำเนินงานประจำปีของสถานศึกษาก่อนเสนอต่อ สาธารณชน
          11) แต่งตั้งที่ปรึกษาหรือคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินงานตามระเบียบนี้ตามที่เห็นสมควร
          12) ปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมายจากหน่วยงานต้นสังกัดของสถานศึกษานั้น

                                รูปแบบการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
ลักษณะการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการสถานศึกษาในการจัดการศึกษาของโรงเรียน
ได้แก่ การร่วมกันกำหนดแนวทางการจัดการศึกษา การจัดทำธรรมนูญโรงเรียน การร่วมกันติดตามประเมินผลการดำเนินงาน ร่วมให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงผลการดำเนินงาน การตรวจสอบการทำงานของโรงเรียน เป็นต้น จากการศึกษาการมีส่วนร่วมของชุมชนและโรงเรียนเพื่อการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ศิริกาญจน์ โกสุมภ์, 2542, 2543 หน้า 74 – 95 ) พบว่า การมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนกับโรงเรียนมีรูปแบบที่ค่อนข้าง ชัดเจน รูปแบบการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาที่สำคัญในโรงเรียนซึ่งคณะกรรมการสถานศึกษาได้ร่วมกับโรงเรียนมีดังนี้
           1) การคัดเลือกบุคคลเข้ามาเป็นคณะกรรมการสถานศึกษา
           2) การกำหนดนโยบายของโรงเรียน
           3) การจัดทำแผนงานและโครงการของโรงเรียน
           4) การพัฒนาอาคารสถานที่และบริเวณโรงเรียน
           5) การร่วมดูแลความประพฤติของนักเรียน
           6) การร่วมระดมทรัพยากรเพื่อการพัฒนาโรงเรียน
           7) การประชาสัมพันธ์กิจกรรมของโรงเรียน
กิจกรรมที่กล่าวถึงทั้ง 7 อย่างเป็นรูปแบบของการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในโรงเรียนประถมศึกษา ซึ่งแม้ว่าด้านการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมโดยตรง แต่ได้ติดตามจากการรายงานผลการดำเนินงานของโรงเรียนซึ่งคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานสามารถที่จะเพิ่มเติมสาระสำคัญให้คณะครู อาจารย์นำไปประยุกต์ใช้ได้
การมีส่วนร่วมของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานกับองค์กรท้องถิ่น ได้แก่องค์การบริหารส่วนตำบล มีความสำคัญมากเนื่องจากสมาชิกของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานส่วนหนึ่งเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล ยอมเอื้อประโยชน์ให้กับโรงเรียนเป็นจำนวนมาก ซึ่งรูปแบบการมีส่วนร่วมมีดังนี้
           1) ร่วมกันกำหนดเป้าหมายและกิจกรรมที่จะดำเนินการ
           2) ร่วมกันพิจารณาตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องและติดต่อเพื่อขอความร่วมมือ
           3) ร่วมประชุมเพื่อวางแผนการทำงานทั้งหมดและแบ่งหน้าที่กันทำงาน
           4) ร่วมประชุมเพื่อตรวจสอบความก้าวหน้า ผลงานและปัญหาอุปสรรค
           5) ร่วมกันดำเนินงาน
           6) ร่วมกันประเมินผลการทำงาน
           7) ร่วมกันรับผลจากการดำเนินงาน
ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างโรงเรียนกับชุมชน เป็นบ่อเกิดของความร่วมมือช่วยเหลือในการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนได้ดำเนินการในทุกวิธีการที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นกับชุมชนโดยมีรูปแบบที่สำคัญ ดังนี้
           1) การแบ่งหน้าที่รับผิดชอบของครูให้มีผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนซึ่งจะคัดเลือกครูที่เป็นคนในชุมชน มีนิสัยเข้ากับคนง่ายทำหน้าที่ในการประสานงานกับชุมชน
           2) สร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับบุคคลที่มีวัยใกล้เคียงให้มาร่วมเป็นคณะกรรมการต่าง ๆ
ในโรงเรียน
           3) การรายงานผลการดำเนินงานของโรงเรียนให้ชุมชนได้รับทราบ
           4) จัดประชุมกลุ่มย่อยเพื่อร่วมกันวางแผนการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในโรงเรียน
           5) เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องในเครือข่ายความสัมพันธ์มาพบปะอย่างสม่ำเสมอ
           6) เข้าร่วมงานในชุมชนทุกครั้ง
            จากการศึกษาการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและบุคคลในชุมชน ที่มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของโรงเรียน พบว่ามีรูปแบบที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม การมีส่วนร่วมที่เกิดขึ้นเป็นความเข้าใจตรงกัน มองเห็นเป้าหมายตรงกัน
และที่สำคัญมีความรับผิดชอบร่วมกันในการพัฒนาการศึกษาของบุตร หลานให้มีคุณภาพมากขึ้น

                                 การดำเนินงานของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
           การดำเนินงานของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ในการเข้ามาร่วมมีบทบาทในการดำเนินงานของโรงเรียนมีขั้นตอนที่สำคัญ ดังนี้
           1) การศึกษาข้อมูลพื้นฐานก่อนเริ่มดำเนินการ
การศึกษาข้อมูลพื้นฐานของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานส่วนใหญ่เป็นหน้าที่ของประธานกรรมการและผู้บริหารโรงเรียนเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งต้องร่วมกันคิดที่จะดำเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่งแต่ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ เช่น ต้องการจัดตั้งกองทุนการศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน
และประธานกรรมการอาจนำสมาชิกและคณะครูร่วมศึกษาดูงานหรือหาข้อมูลเพิ่มเติม
          2) การสร้างความสัมพันธ์กับคนในชุมชน
ผู้บริหารโรงเรียนเป็นผู้ดำเนินการสร้างความสัมพันธ์กับคนในชุมชนโดยอาศัยคณะกรรมการสถานศึกษาเป็นผู้เชื่อมโยงความสัมพันธ์ นอกจากนี้คณะครู อาจารย์ในโรงเรียน
ต้องแสดงความสามารถให้ประชาชนได้เห็นจนเกิดการยอมรับ
            3) การสร้างเครือข่ายของกลุ่มผู้มีส่วนร่วม
การสร้างเครือข่ายของกลุ่มผู้มีส่วนร่วม เช่น กลุ่มคณะครู กลุ่มคณะกรรมการสถานศึกษา กลุ่มสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล กลุ่มวิทยากรท้องถิ่น ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีบทบาทที่เด่นชัดในการมีส่วนร่วมกับโรงเรียนและขึ้นกับกิจกรรมที่โรงเรียนและชุมชนร่วมกันจัดทำ
           4) การสร้างกิจกรรม
เป็นการดำเนินงานที่ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมกันคิด ร่วมกันวางแผน ตั้งแต่เริ่มต้นกิจกรรม จะทำให้ผู้ร่วมงานมีความรู้สึกเป็นเจ้าของงาน จะทำให้เกิดความเต็มใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วมกิจกรรม
           5) การร่วมประเมินผลการดำเนินงาน
หลังจากดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ แล้วผู้มีส่วนร่วมกันดำเนินการจะประเมินผลการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อปรับปรุงข้อบกพร่อง โดยการสอบถามความคิดเห็นจากผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วม
การดำเนินการของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่กล่าวมา เป็นการศึกษาจากที่ได้พบเห็นโดยทั่วไปของการดำเนินงานในโรงเรียน ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันในรายละเอียดของการดำเนินงาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละสถานที่ ของสภาพแวดล้อมในชุมชนและโรงเรียน และอาจเป็นแนวทางสำหรับคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและโรงเรียน ที่จะมีส่วนร่วมในการดำเนินงานต่อไป ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และตามเจตนารมณ์ ของระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2543 ที่เน้นให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วมกับสถานศึกษาให้สามารถร่วมกันจัดการศึกษาในชุมชนได้อย่างแท้จริงต่อไป
           การนำคณะกรรมการสถานศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของโรงเรียน เป็นวิธีการบริหารและจัดการศึกษาของโรงเรียนที่เหมาะสม ถูกต้อง ตรงกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบัน ที่จะต้องอาศัยพลังของทุกส่วนมาขับเคลื่อนการปฏิบัติงานในทุกด้านของโรงเรียน เพราะในสภาพปัจจุบันนี้ การเรียนรู้ของนักเรียนมีได้จำกัดอยู่แต่เพียงในห้องสี่เหลี่ยมเหมือนเมื่อในอดีต ผู้เรียนต้องการแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายและทันสมัย เพื่อการพัฒนาตนเองเข้าสู่สังคมแห่งการต่อสู้มากขึ้นการสนองตอบต่อความต้องการของนักเรียนและโรงเรียนจึงต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุก ๆ ฝ่ายเข้ามาร่วมระดมทรัพยากรในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นผู้ที่มีบทบาทมากในการประสานความร่วมมือระหว่างโรงเรียนกับชุมชน ในภาระกิจและกิจกรรมการดำเนินการของโรงเรียน เพื่อผลักดันกิจกรรมการดำเนินงานของโรงเรียนในทุก ๆ ด้านให้ประสบความสำเร็จตามที่ได้กำหนดไว้
           คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นกลุ่มพลังที่มีศักยภาพในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนเป็นอย่างมาก เป็นผู้สร้างสรรค์และเปลี่ยนแปลงสถานศึกษาให้มีความทันสมัย เป็นผู้ผลักดันให้โครงการต่าง ๆ ในโรงเรียนสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง เป็นผู้ให้กำลังใจแก่ผู้บริหารโรงเรียน รวมทั้งคณะครู อาจารย์ ให้มีความมั่นใจที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มศักยภาพ การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากแนวความคิดของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานย่อมส่งผลในทางที่ดีต่อโรงเรียนและชุมชนที่อยู่อย่างแน่นอน และผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดย่อมเป็นนักเรียน ซึ่งเป็นลูกหลานของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นั้นเอง

                การมีส่วนร่วม : ปัจจัยและเงื่อนไขที่ทำให้สถานศึกษาสามารถทำงานร่วมกับชุมชน
การส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนมีรากฐานความเชื่อในคุณค่าและศักยภาพ         “ คน ” “ ชุมชน ” และ “ ท้องถิ่น ” การมีส่วนร่วมจึงเป็นการทำให้ทุกฝ่ายได้เข้ามาเกี่ยวข้อง ให้ทุกคนมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการดำเนินงานในลักษณะของกิจกรรมและดำเนินชีวิตในชุมชนอย่างมีศักดิ์ศรีและเท่าเทียมกันในสิทธิอำนาจตามแนวทางแห่งประชาธิปไตย อันเป็นความสัมพันธ์ตามแนวราบ ปฏิสัมพันธ์ของทุกฝ่ายในชุมชนที่เข้ามามีส่วนร่วมกันในการร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมดำเนินกิจกรรม จะทำให้ทุกคนเกิดการเรียนรู้ร่วมกันด้วยกระบวนการทางสังคมของสมาชิกในชุมชน ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติจริงแบบของการมีส่วนร่วมของสถานศึกษาและชุมชนอาจสรุปได้ดังนี้
           1. การมีส่วนร่วมของสถานศึกษาและชุมชนแบบชายขอบ เป็นลักษณะการร่วมมือหรือการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างสถานศึกษาและชุมชนที่มีข้อจำกัดเนื่องจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่าง 2 ฝ่าย
          2. การมีส่วนร่วมของสถานศึกษาและชุมชนแบบบางส่วน เป็นการเข้ามาเกี่ยวของประชาชนในระดับความเข้มข้นมากกว่าชายขอบ ในรูปแบบของคณะกรรมการสถานศึกษาที่เป็นตัวแทนของผู้ปกครองและชุมชน ที่รัฐถือว่าเป็นนโยบายสำคัญ ซึ่งสามารถสร้างความชอบธรรมในการจัดการศึกษาของไทย
           3. การมีส่วนร่วมของสถานศึกษาและชุมชนแบบสมบูรณ์ เป็นการมีส่วนร่วมระหว่างสถานศึกษาและชุมชน โดยทั้งสองฝ่ายร่วมกันอย่างเข้มข้นและเท่าเทียมกัน ต่างฝ่ายต่างมีอิทธิพลต่อกิจกรรมร่วมกัน ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมได้เต็มที่ ทั้งการร่วมคิด ร่วมปฏิบัติ ร่วมประเมินผล และร่วมรับผลประโยชน์ตามกลไกทางสังคม สิทธิ และอำนาจของประชาชน
จากแนวคิดที่กล่าวมา ปัจจัยและเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้สถานศึกษาสามารถทำงานร่วมกับชุมชนได้ อาจมีดังนี้
           1. มีวิสัยทัศน์ในเรื่องการศึกษาของชุมชนร่วมกัน ด้วยการแสวงหากระบวนการสร้างวิสัยทัศน์ของผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้สอน ผู้นำชุมชน ผู้ปกครอง ชาวบ้านทั่วไป และภาคีอื่น ๆ ในเรื่องการศึกษา
           2. การมีส่วนร่วมและความสนับสนุนจากภาคภาคีอื่น ๆ การแสวงหาความร่วมมือและความสนับสนุนจากภาคีอื่น ๆ ทั้งภายในและภายนอกชุมชน เป็นเงื่อนไขที่จะทำให้สถานศึกษาและชุมชนร่วมกันสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนได้มากขึ้น การพัฒนาความร่วมมือจะนำไปสู่การผลักดันให้การศึกษาทำหน้าที่สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน
          3. โครงสร้างของการจัดการศึกษาเป็นแบบแนวราบ การจัดโครงสร้างและระบบการบริหารจัดการของสถานศึกษาที่ลดโครงสร้างอำนาจที่มีหลายลำดับขั้นให้น้อยลง จัดสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถานศึกษาและภาคีอื่น จะทำให้การจัดการศึกษากลายเป็นภารกิจร่วมของทุกคน ทั้งด้านถ่ายทอดความรู้ เวลา และทรัพยากรได้
           4. ชุมชนมีเงื่อนไขพื้นฐานเพื่อการพัฒนา ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าชุมชนมีทรัพยากรพื้นฐาน
คงเหลืออยู่ เช่น ทรัพยากรธรรมชาติ บุคคล ผลผลิต รายได้ ฯลฯ หรือมีปัจจัยแห่งความเข้มแข็งบางส่วนคงอยู่ เช่น กลุ่มผู้นำธรรมชาติ ความสัมพันธ์เชิงสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น
               4.1 รูปแบบและกระบวนการพัฒนาความร่วมมือ : บทเรียนจากการประชุมปฏิบัติการ
สำนักพัฒนาการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมเขตการศึกษา 1 ได้จัดประชุมปฏิบัติการพัฒนารูปแบบการมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน จากการระดมความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษา ครู นักเรียน และผู้แทนชุมชน ด้วยกิจกรรมการเสนอตัวอย่างสถานศึกษาที่ประสบความสำเร็จ การดูข้อค้นพบจากการวิจัย การเรียนรู้ร่วมกันด้วยกระบวนการ
กลุ่มที่จัดแบ่งตามสาระการเรียนรู้ การอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุม สรุปเป็นข้อค้นพบได้ดังนี้
                1. รูปแบบการมีส่วนร่วมของสถานศึกษากับชุมชน จัดดำเนินการได้ 2 แนวทาง คือ สถานศึกษาริเริ่ม ชุมชนให้ความร่วมมือและสนับสนุน หรือชุมชนริเริ่ม สถานศึกษาสนับสนุนให้และความร่วมมือ โดยมีองค์กรและหน่วยงานภาคีที่สาม เป็นหน่วยประสานความร่วมมือ
                2. กลุ่มคนและภาคีในการมีส่วนร่วม ในระดับสถานศึกษา ประกอบด้วย ผู้สอน ผู้เรียน ผู้บริหาร และคณะกรรมการสถานศึกษา ส่วนระดับชุมชน ประกอบด้วย ผู้สอน ผู้เรียน ผู้บริหาร ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน และพระสงฆ์ โดยมีหน่วยงานภาคี คือ สถานศึกษา วัด องค์การบริหารส่วนตำบล สถาบันอุดมศึกษา ประชาคมการเรียนรู้ หน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่น องค์กรเองชน โรงงาน
                3. การกำหนดผู้มีส่วนร่วม กำหนดจากความสัมพันธ์ในพื้นที่ ตามกรอบกลไกของชุมชน ตลอดจนทรัพยากรและภาคีที่มีบทบาทและความชำนาญต่างกัน
               4. ขอบเขตการมีส่วนร่วม เป็นไปตามภารกิจของสถานศึกษาและหน่วยงานต้นสังกัด ประเด็นการมีส่วนร่วมของชุมชน ท้องถิ่น ภูมิภาค
               5. ประเด็นการมีส่วนร่วม ประกอบด้วยร่วมจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การพัฒนาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาสื่อและหลักสูตร กิจกรรมการเรียนรู้ การพัฒนายุทธศาสตร์
ในการจัดการเรียนรู้ การพัฒนาภาคีและเครือข่ายความร่วมมือ
               6. กระบวนการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วม ด้วยการริเริ่ม สร้างสรรค์ ออกแบบ โดยผู้บริหารสถานศึกษาและผู้สอน นักกิจกรรม การระดมทุน การระดมทรัพยากร การสร้างองค์ความรู้ท้องถิ่น การจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการจัดกระบวนการประชมคมประชาสังคม
               7. ผลสำเร็จและความสืบเนื่อง การมีส่วนร่วมจะทำให้มีการเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มบุคคลและหน่วยงานภาคีกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น สถานศึกษา ผู้สอน ผู้เรียน และชุมชน ได้พัฒนาร่วมกันและมีบทบาทในชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น สภาพของสถานศึกษาและการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ดีขึ้น การจัดหาทรัพยากร ลวดความขาดแคลนด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย ผลงานได้รับการยกย่องชื่นชม เช่น การได้รางวัลพระราชทานครูดีเด่น การเสนอผลงานขอเลื่อนระดับของผู้สอน เป็นต้น สามารถปรับขยายเป็นเครือข่ายความร่วมมือและการเรียนรู้ร่วมกันในระดับภูมิภาคและประเทศ

ข้อความนี้ถูกเขียนใน การนิเทศ ติดตามและประเมินผลการศึกษา คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น