การนิเทศภายในโรงเรียน

 

การนิเทศภายในโรงเรียน

            การนิเทศภายในนั้น มีจุดเน้นที่การนิเทศการสอน เป็นระบบย่อยของระบบโรงเรียน ประกอบด้วย ผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศ การดำเนินการนิเทศภายในนั้น มีผลต่อคุณภาพการเรียนการสอนของครูผู้สอน โดยยึดหลักสำคัญว่า การสอนเป็นพฤติกรรมที่เรียนรู้ได้ และการเรียนรู้เป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในทางที่ดีขึ้น ผู้นิเทศสามารถนิเทศครูผู้สอนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการเรียนการสอนได้ เพื่อปรับปรุงและพัฒนาการเรียนการสอนให้ดีขึ้น จึงจัดได้ว่า การนิเทศภายในโรงเรียนเป็นการให้การศึกษาต่อเนื่องแก่ครูผู้สอนในโรงเรียน ซึ่งสามารถสรุปความมุ่งหมายของการนิเทศภายในโรงเรียนได้ ดังนี้ (ปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์.  2546 : 20-21)
          1. เพื่อการพัฒนาวิชาชีพครู ประกอบด้วย การให้ข้อมูลแก่ครูในด้านการเรียนการสอน เพื่อครูจะได้ใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงการเรียนการสอนของตนเอง ช่วยให้ครูได้พัฒนาความรู้ ความสามารถในด้านการเรียนการสอน
          2. เพื่อพัฒนาคุณภาพของนักเรียน ประกอบด้วย การปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนในโรงเรียน เพื่อคุณภาพของนักเรียน และเป็นการส่งเสริมประสิทธิภาพงานวิชาการในโรงเรียน
          3. เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องได้แก่ ผู้นิเทศ ครูผู้สอน เป็นต้น
          4. เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้องในการทำงานร่วมกัน
ความหมายและขอบข่ายการนิเทศภายในโรงเรียน
          นักการศึกษาได้ให้ความหมายของการนิเทศภายใน สรุปได้ ดังนี้
          กิติมา ปรีดีดิลก (2532 : 306) ได้กล่าวว่า การนิเทศภายในโรงเรียนเป็นการนิเทศ                โดยบุคลากรในโรงเรียนเอง จะต้องกระทำอย่างมีขั้นตอนและกระบวนการในอันที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
          สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (2535 : 10) ได้เสนอว่า การนิเทศภายในโรงเรียน หมายถึง ความพยายามทุกชนิดของผู้ที่อยู่ในโรงเรียน ตั้งแต่ผู้บริหารลงมาในการที่จะปรับปรุงส่งเสริมประสิทธิภาพการเรียนการสอนในโรงเรียนได้ขึ้น ซึ่งเป็นการพัฒนาครูผู้สอนให้ปฏิบัติหน้าที่ในการจัดการประสบการณ์การเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิผล
          ชาลี มณีศรี (2538 : 15) ได้กล่าวว่า การนิเทศภายใน หมายถึง กระบวนการส่งเสริม แนะนำ ชี้นำ ปรึกษา หรือประสานมอบหมายความรับผิดชอบและปรับปรุงพัฒนาเพื่อคุณภาพของนักเรียน
          นอกจากนี้ เสถียร เที่ยงธรรม (2542 : 7) ได้สรุปว่า การนิเทศภายในโรงเรียน หมายถึง กระบวนการที่จัดขึ้นเพื่อพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพคุณภาพการเรียนการสอนในโรงเรียนให้สูงขึ้น โดยการร่วมมือของบุคลากรทั้งหมดภายในโรงเรียน และสมเดช พินิจสกุล (2544 : 7)               ได้สรุปว่า การนิเทศภายใน หมายถึง ความพยายามของผู้บริหารโรงเรียนในอันที่จะปรับปรุงส่งเสริมประสิทธิภาพในด้านการเรียนการสอนให้ดีขึ้น ทำให้เกิดการเพิ่มพลังในการปฏิบัติงานของครู รวมทั้งให้ครูเกิดความก้าวหน้าในวิชาชีพ และก่อให้เกิดผลขั้นสุดท้าย คือ การศึกษาของเด็กก้าวไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกระบวนการนิเทศภายใน ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ดังนี้
          ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาสภาพปัจจุบันปัญหาและความต้องการ ประกอบด้วย การสำรวจปัญหา การจัดระบบข้อมูล การวิเคราะห์ผลการเรียน การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน สำรวจการใช้อุปกรณ์ และการประเมินผลการจัดการศึกษาที่ดำเนินการผ่านมา
          ขั้นตอนที่ 2 การวางแผนและกำหนดทางเลือก ประกอบด้วย การกำหนดขอบข่ายการนิเทศภายใน การกำหนดผู้รับผิดชอบและวิธีการจัดทำแผนโครงการ ประชุมชี้แจงประชาสัมพันธ์และการประเมินการวางแผนนิเทศ
          ขั้นตอนที่ 3 การสร้างสื่อ เครื่องมือและพัฒนาวิธีการ ประกอบด้วย การวิเคราะห์ความต้องการใช้สื่อ เครื่องมือ การจัดหาวัสดุอุปกรณ์ การส่งเสริมการผลิตสื่อ เครื่องมือ การกำกับติดตามดูแลและให้คำปรึกษา การประเมินสื่อและเครื่องมือนิเทศ
          ขั้นตอนที่ 4 การปฏิบัติการนิเทศภายใน ประกอบด้วย การดำเนินการนิเทศตามแผนที่กำหนดไว้ การประสานงาน การสร้างขวัญกำลังใจ การกำกับติดตามการสอน การสร้างความสำคัญระหว่างผู้เกี่ยวข้อง และการประเมินผลการดำเนินการนิเทศภายใน
          ขั้นตอนที่ 5 การประเมินผลและรายงานผล ประกอบด้วย การกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการในการประเมินผล การจัดทำรายงาน การวิเคราะห์ผลการประเมิน การสรุปและการจัดทำรายงานเผยแพร่ผลการนิเทศภายใน
ขอบข่ายของการนิเทศภายในโรงเรียน
            การนิเทศภายในโรงเรียน เป็นรูปแบบหนึ่งของการนิเทศการสอนที่มีการริเริ่ม และจัดดำเนินการโดยบุคลากรภายในโรงเรียน ประกอบด้วย บุคคลหลายฝ่ายตั้งแต่ผู้บริหารสถานศึกษา รอง/ผู้ช่วยผู้บริหารสถานศึกษา คณะครูที่ได้รับมอบหมาย ทำหน้าที่ผู้นิเทศ และครูผู้สอนทุกคนเป็นผู้รับการนิเทศ มีขอบข่ายการดำเนินโดยสรุป ดังนี้ (ปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์.  2546 :  66-68)
          1. การนิเทศภายในโรงเรียนมีองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่บุคลากรภายในสถานศึกษาเป็นผู้จัดดำเนินการ เป็นเจ้าของโปแกรมการนิเทศตามความต้องของครูในสถานศึกษานั้นๆการดำเนินงาน กระบวนการจัดกิจกรรมต่างๆเกิดขึ้นภายในสถานศึกษา
          2. ผู้นิเทศดำเนินการนิเทศภายในโรงเรียน มีจุดมุ่งหมายหลักว่า เป็นการมุ่งพัฒนาครูผู้สอนภายในสถานศึกษา ให้รู้จักวิธีการปรับปรุงการเรียนการสอนให้ดีขึ้น เพื่อทำให้การศึกษาเกิดผลสัมฤทธิ์ตามความคาดหมายของการศึกษา และผู้บริหารสถานศึกษามีบทบาทสำคัญต่อการนิเทศภายในสถานศึกษา ซึ่งความสำเร็จของการนิเทศภายใน ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการสนับสนุนและเห็นความสำคัญของการนิเทศของผู้บริหาร ดังนั้นจึงสามารถสรุปได้ว่า การนิเทศภายในโรงเรียน เป็นหน้าที่โดยตรงของผู้บริหารสถานศึกษาในการปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอน
          3. ผู้นิเทศภายในโรงเรียน ประกอบด้วย
                   3.1 ผู้บริหารสถานศึกษา
                   3.2 ผู้ช่วยผู้บริหารสถานศึกษาโดยเฉพาะฝ่ายวิชาการ
                   3.3 หัวหน้าคณะวิชา หัวหน้าแผนกวิชา
                   3.4 ครูอาจารย์ที่ทำหน้าที่สอน แต่มีความรู้ ความสามารถเฉพาะด้านมีประสบการณ์ในการสอน สามารถสาธิตหรือให้คำปรึกษาแนะนำเพื่อนร่วมงานได้
                   3.5 ผู้เชี่ยวชาญที่เชิญมาเป็นวิทยากรเฉพาะด้านแนวคิดที่ใช้ในการนิเทศภายในโรงเรียน
         การนิเทศภายในโรงเรียนจะต้องให้เกิดความร่วมมือร่วมใจของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย    ซึ่งในปัจจุบันยึดกรอบแนวคิดที่ใช้เป็นแนวทางดำเนินการนิเทศภายในโรงเรียน โดยสรุป ดังนี้ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน.  2546 : 27)
         1. วิธีการเชิงระบบ (System Approach) เป็นแนวคิดการดำเนินการนิเทศภายใน โรงเรียนมีความมุ่งหมายเพื่อการแก้ปัญหาและพัฒนาโรงเรียน โดยพิจารณาตามความต้องการจำเป็นตามลำดับความสำคัญ วิเคราะห์หาทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดในการแก้ปัญหา และหรือพัฒนา ทดลองดำเนินการ ติดตามประเมินผล ปรับปรุงและนำไปปฏิบัติจริง ทั้งนี้คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่าและได้ประโยชน์สูงสุด
        2. วิธีการเชิงมนุษยนิยม (Humanistic Approach) เป็นแนวคิดการดำเนินการนิเทศภายในโรงเรียนโดยใช้วิธีการประสานงานระหว่างผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศ ทำให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกัน บรรยากาศการทำงานในโรงเรียนมีลักษณะเป็นกัลยาณมิตร ร่วมมือ ร่วมใจ ผู้บริหารและครูได้รับการยกย่อง เชิงชูเกียรติ ให้ขวัญกำลังใจ และมีความรู้สึกอิสระที่จะแสวงหาทางเลือกในการแก้ปัญหาและพัฒนาโรงเรียน
        3. วิธีการร่วมพัฒนา (Collaborative Approach) เป็นแนวคิดการดำเนินการนิเทศภายในโรงเรียนโดยใช้วิธีการร่วมคิด ร่วมทำระหว่างผู้นิเทศกับผู้รับการนิเทศภายในโรงเรียน และ มีการประสานความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางภายนอกหรือแหล่งวิทยากรภายนอกเพื่อช่วยเหลือโรงเรียนเมื่อวิเคราะห์แนวคิดในการนิเทศภายใน 3 วิธีการดังกล่าวข้างต้น มีจุดเด่นเฉพาะ กล่าวคือ วิธีการเชิงระบบ ประกอบด้วย กระบวนการมีขั้นตอนชัดเจน เริ่มต้นด้วยการประเมินความต้องการจำเป็นตามลำดับความสำคัญ วิเคราะห์หาทางเลือกเพื่อใช้ในการนิเทศ ดำเนินการนิเทศ ติดตามและประเมินผล และการปรับปรุงพัฒนา                   
ความจำเป็นของการนิเทศภายในโรงเรียน
           การนิเทศภายในโรงเรียนมีความจำเป็นสำหรับโรงเรียน ดังนี้ (วไลรัตน์ บุญสวัสดิ์.  2538 : 63 ; ชารี มณีศรี. 2538 : 201-202 ; ชโลมใจ ภิงคารวัฒน์. 2539 : ก2 ; แสน สมนึก.  2541 : 14)
           1. จำนวนศึกษานิเทศก์ไม่เพียงพอและสมดุลกับความต้องการของโรงเรียนและงานที่รับผิดชอบ จึงทำให้มีการนิเทศจากศึกษานิเทศก์ไม่ทั่วถึง และการนิเทศไม่มีคุณภาพ
           2. การนิเทศภายในโรงเรียนจะช่วยทำให้เกิดประสบความสำเร็จในการรวมพลังครูผู้สอนเพื่อให้มีความสามารถในการพัฒนาและปรับปรุงการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของตนเองให้ตอบสนองต่อหลักสูตรยิ่งขึ้น
           3. การนิเทศภายในโรงเรียนจะช่วยทำให้ครูได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และร่วมมือกันวางแผนพัฒนานักเรียนให้มีคุณภาพ และครูเกิดความมั่นใจ มีขวัญและกำลังใจ รวมทั้งเกิดความภูมิใจในการปฏิบัติงานของตนเอง
           สรุปได้ว่า การนิเทศภายในโรงเรียน มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมคุณภาพการเรียนการสอน และสามารถแก้ปัญหาให้ครูสามารถพัฒนาและปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนของตนเองได้ เมื่อผู้บริหารสถานศึกษาได้รู้ปัญหาแท้จริงของโรงเรียน
ความมุ่งหมายของการนิเทศภายในโรงเรียน
           ความมุ่งหมายของ
การนิเทศภายในโรงเรียน มีรายละเอียดโดยสรุป ดังนี้ (นิวัฒน์ โรจนาพงษ์.  2534 : 7;อำภา บุญช่วย. 2537: 111 ; แสน สมนึก. 2541 : 14)
           1. เพื่อพัฒนาความรู้ ทักษะ และเจตคติที่ดีในการปฏิบัติการนิเทศของผู้บริหารสถานศึกษาให้สามารถนำหลักการ แนวคิดและกระบวนการนิเทศมาใช้ดำเนินการบริหารโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
           2. เพื่อสำรวจสภาพปัจจุบัน ปัญหาและความต้องการของโรงเรียนแล้วนำมาดำเนินการวางแผนการเรียนการสอนให้แก่นักเรียนได้ถูกต้อง รวมทั้งสามารถแก้ปัญหาเกี่ยวกับการเรียนการสอนได้ดี โดยผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องส่งเสริม สนับสนุนให้กำลังใจ รวมทั้งให้ร่วมมือแก่ครูผู้สอนในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้ได้มาตรฐานที่กำหนดไว้
          3. เพื่อปรับปรุงและพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของครูในโรงเรียนโดยใช้เทคนิคการสร้างความสัมพันธ์ ความร่วมมือ รวมทั้งการทำงานเป็นทีม มีการวางแผนและแก้ไขปัญหาร่วมกัน
           สรุปได้ว่า ความมุ่งหมายของการนิเทศภายในโรงเรียน เพื่อ การปรับปรุงและพัฒนาความสามารถของครูผู้สอน ซึ่งได้แก่ ความรู้ ทักษะและเจตคติของครูผู้สอนในด้านการจัดการเรียนการสอนให้สามารถแก้ปัญหาและจัดการเรียนการสอนแก่ผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยการที่ผู้บริหารสถานศึกษาดำเนินการส่งเสริม สนับสนุนให้ครูได้มีการพัฒนาตนเองและให้กำลังใจ อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การพัฒนาความสามารถของครูผู้สอนจึงอยู่ในความมุ่งหมายในการนิเทศภายในโรงเรียน
กระบวนการนิเทศภายในโรงเรียน
              กระบวนการนิเทศภายในโรงเรียน นั้น เป็นขั้นตอนการดำเนินการนิเทศภายในโรงเรียน ซึ่งเป็นขั้นตอนปฏิบัติการทั้งด้านกระบวนการบริหารการนิเทศและการเรียนการสอนควบคู่กันไปอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง (แสน สมนึก.  2541 :  14) กมล  ภู่ประเสริฐ (2533 : 238-239)ได้เสนอขั้นตอนการนิเทศภายในไว้ 6 ขั้นตอน คือ การสร้างความตระหนัก การตรวจสอบและร่วมวางแผน การชี้แนะและบริการ การให้ข้อมูล การประเมินผลและการให้แรงเสริม และสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (2540 : 118)ได้เสนอขั้นตอนการนิเทศภายในโรงเรียนไว้ 5 ขั้นตอนคือ การศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหาและความต้องการ การวางแผนและกำหนดทางเลือก การสร้างสื่อในการนิเทศ การปฏิบัติการนิเทศ และการประเมินผลและรายงานผล
           แสน สมนึก (2541 : 75-77) ได้สังเคราะห์เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการนิเทศภายในโรงเรียน ได้สรุปว่า กระบวนการนิเทศภายใน ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาสภาพ ปัจจุบัน ปัญหาและการวางแผนการนิเทศ  ประกอบด้วย การวิเคราะห์นโยบายการศึกษา การกำหนดวิธีการรวบรวมข้อมูล การเก็บรวบรวมข้อมูลมาวิเคราะห์วางแผนการนิเทศขั้นตอนที่ 2 การสร้างสื่อและเครื่องมือการนิเทศ ประกอบด้วย การผลิตสื่อและเครื่องมือเพื่อใช้ในการนิเทศ กำหนดแนวการใช้สื่อและเครื่องมือในการนิเทศ ขั้นตอนที่ 3 การปฏิบัติการนิเทศภายในโรงเรียน ประกอบด้วย การปฏิบัติการนิเทศภายในโดยใช้สื่อและเครื่งมือนิเทศที่ได้จัดเตรียมไว้สมบูรณ์แล้ว และขั้นตอนที่ 4 การประเมินผลและรายงานผลการนิเทศภายในโรงเรียนการจัดทำเครื่องมือการประเมินผล การประเมินผล และการสรุปรายงานผล
           สรุปได้ว่า ในการดำเนินการนิเทศภายในโรงเรียนเชิงระบบให้มีประสิทธิภาพนั้นจำเป็นจะต้องมีกระบวนการนิเทศภายในโรงเรียน ซึ่งเป็นลำดับขั้นตอนอย่างต่อเนื่องครบวงจร ของการปฏิบัติการนิเทศภายในโรงเรียน สามารถสังเคราะห์จากแนวคิดที่นำเสนอมาแล้เป็นแนวดำเนินการนิเทศภายในโรงเรียนเชิงระบบในครั้งนี้ ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ดังนี้
           ขั้นตอนที่ 1 การวางแผนการนิเทศภายในโรงเรียน
                   ขั้นตอนที่ 1.1 การศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหาและความต้องการการนิเทศภายในโรงเรียน
                   ขั้นตอนที่ 1.2 การวางแผนการดำเนินการนิเทศภายในโรงเรียน
                   ขั้นตอนที่ 1.3 การสร้างและพัฒนาสื่อและเครื่องมือสำหรับนิเทศภายในโรงเรียน
                   ขั้นตอนที่ 1.4 การกำหนดบทบาทและหน้าที่ผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศภายในโรงเรียน
           ขั้นตอนที่ 2 การดำเนินการนิเทศภายในโรงเรียน
           ขั้นตอนที่ 3 การติดตามและประเมินผลการนิเทศภายในโรงเรียน
          ขั้นตอนที่ 4 การสรุปและรายงานผลการดำเนินการนิเทศภายในโรงเรียน
บทบาทผู้บริหารสถานศึกษาในการนิเทศภายในโรงเรียน
            ผู้บริหารสถานศึกษามีบทบาทและหน้าที่ในการดำเนินการนิเทศการสอนโดยทำหน้าทีบริหารโครงการ และเป็นผู้นำของคณะผู้นิเทศภายในโรงเรียน การนิเทศภายในโรงเรียนเป็นระบบหนึ่งของงานด้านวิชาการ สามารถสรุปขอบข่ายงานดำเนินการนิเทศภายในโรงเรียนตามบทบาทและหน้าที่ของผู้บริหารสถานศึกษา ประกอบด้วย 3 ประการ ดังนี้ (ปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์.  2546 : 67-78)
          1. บทบาทในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา: ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องส่งเสริม สนับสนุนโดยการนิเทศให้ครูผู้สอนทุกคนมีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะและเจตคติในการจัดทำ    และการนำหลักสูตรไปใช้ในห้องเรียนในรายวิชาที่รับผิดชอบอย่างถูกต้องชัดเจน รวมทั้งนิเทศ การใช้หลักสูตรอย่างต่อเนื่อง
          2. บทบาทเป็นผู้นำในการจัดการเรียนการสอน: ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องส่งเสริม สนับสนุน โดยการนิเทศครูผู้สอนให้สามารถจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรสถานศึกษา             อย่างเป็นระบบ โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การรู้จักพื้นฐานของผู้เรียน การกำหนดจุดมุ่งหมายของการสอน การกำหนดเนื้อหาสาระสำหรับสอน การเตรียมความพร้อมในการเรียนการสอน การดำเนินการสอน การสร้างเสริมทักษะ การสนับสนุนการสอน การควบคุมและตรวจสอบคุณภาพการสอน สัมฤทธิผลของการสอน และการปรับปรุงแก้ไข
          3. บทบาทเป็นผู้นำในการประเมินผลการสอน: ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องดำเนินการนิเทศให้ครูผู้สอนสามารถดำเนินการประเมินการเรียนการสอนตามหลักสูตรสถานศึกษาและนำผลการประเมินมาใช้ปรับปรุงการเรียนการสอน และตัดสินการเรียนในแต่ละรายวิชา/ชั้น 
บทบาทผู้นิเทศภายในโรงเรียน
          ผู้นิเทศ มีหน้าที่ให้คำปรึกษา แนะนำหรือจัดกิจกรรมกระตุ้น เร้า ส่งเสริมสนับสนุนให้ครูผู้สอนได้ดำเนินการปรับปรุงการสอนในห้องเรียนให้มีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา รองและหรือผู้ช่วยผู้บริหารสถานศึกษา ผู้นำครูทางการสอน หัวหน้าหมวดวิชา หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องและชำนาญในการสอนภายในโรงเรียน เป็นต้น โดยผู้นิเทศจะต้องพัฒนาตนเองให้มีคุณลักษณะอย่างน้อย 3 ประการโดยสรุป ดังนี้ (สุทธนู ศรีไสย์. 2545. 11-12)
           1. พื้นฐานความรู้ (Knowledge Base) ผู้นิเทศควรจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจหน้าที่           ของครูผู้สอนเข้าใจหลักสูตรการเรียนการสอน และเรื่องต่างๆที่จำเป็นต่อการจัดกระบวนการเรียนรู้แก่ผู้เรียน
          2. ทักษะปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Interpersonal Skills) ผู้นิเทศจะต้องมีทักษะการติดต่อประสานงาน มีความสามารถในการสื่อสาร รวมทั้งมีนิสัยชอบช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความตั้งใจและเต็มใจ
          3. ทักษะเฉพาะ (Technical Skills) ผู้นิเทศจะต้องมีทักษะเฉพาะในด้านการสังเกต (Observing) การวางแผน (Planning) การประเมินผล (Assessing) และการประเมินผลภายหลังการปรับปรุงการสอน (Evaluating Instructional Improvement
          นอกจากนี้ ปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์ (2546 : 22-25) ได้เสนvแนะว่า ผู้นิเทศจะต้องเป็นผู้มีคุณลักษณะและพฤติกรรมต่างๆเพื่อใช้เป็นแนวทางดำเนินการนิเทศภายในโรงเรียนโดยสรุป ดังนี้
          1. ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องเป็นผู้นำของผู้นิเทศดำเนินการวางแผนพัฒนาการเรียนการสอนโดยใช้กิจกรรมการนิเทศภายในโรงเรียน และร่วมมือกับคณะผู้นิเทศเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการเรียนการสอน
          2. ร่วมกับผู้รับการนิเทศในโรงเรียนสร้างบรรยากาศในการนิเทศด้วยการประชุมปรึกษาหารือ
          3. ให้การยอมรับผู้รับการนิเทศว่าแต่ละคนมีความแตกต่างกัน เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
          4. ให้อิสระแก่ผู้รับการนิเทศได้มีความคิดสร้างสรรค์ตามความสามารถของแต่ละคน
          สรุปได้ว่า การดำเนินการนิเทศภายในโรงเรียน เป็นระบบย่อยของระบบโรงเรียน มีความมุ่งหมายที่สำคัญ เพื่อพัฒนาความสามารถครูผู้สอนซึ่งเป็นผู้รับการนิเทศให้สามารถจัดการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพ ส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียน นั่นคือ จะต้องดำเนินการร่วมกันระหว่างผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศภายใต้การบริหารงานโครงการนิเทศภายในโรงเรียนและผู้นำคณะผู้นิเทศภายในโรงเรียนหลักการนิเทศภายในโรงเรียน
          การนิเทศภายในโรงเรียน มีหลักการดำเนินการโดยสรุป ดังนี้ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. 2546 : 24-25)  
          1. การนิเทศภายในโรงเรียนเป็นภาระของผู้บริหารโรงเรียน ผู้ช่วยผู้บริหาร หัวหน้าหมวดวิชา และคณะครูอาจารย์ภายในโรงเรียน มีหน้าที่นิเทศกันเอง
          2. ประสานความร่วมมือระหว่างเครือข่ายการนิเทศระดับเขตพื้นที่การศึกษา กลุ่มโรงเรียนและแหล่งวิทยาการ ให้บริการช่วยเหลืองานวิชาการ ของโรงเรียนอย่างมีประสิทธิภาพและคล่องตัว
          3.การนิเทศภายในโรงเรียนจะได้ผลดี ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูด้วยกัน ได้รับขวัญและกำลังใจจากผู้บริหาร และยอมรับในความรู้ความสามารถของผู้ให้การนิเทศ พร้อมทั้งผู้รับการนิเทศภายในโรงเรียนให้การสนับสนุนด้วย
ประโยชน์ของการนิเทศภายในโรงเรียน
         การนิเทศภายในโรงเรียนจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนาให้โรงเรียนมีประสิทธิภาพสูงขึ้น และการดำเนินการจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับเจตคติ ความเชื่อ ความรับผิดชอบ การเร้าหรือกระตุ้นให้ครูผู้สอนได้มีการปรับปรุงตนเอง ตลอดจนแนวความคิดของครูผู้สอนในการปฏิบัติงานร่วมกันได้อย่างเหมาะสม ซึ่งส่งผลทำให้ครูผู้สอนได้รับประโยชน์โดยตรงโดยสรุป ดังนี้(สุทธนู ศรีไสย์.2545.8-9) 
        1. ครูผู้สอนมีความเชื่อมั่นในตนเอง
        2. ครูผู้สอนสามารถประเมินผลการทำงานของตนเองได้
        3. ครูผู้สอนสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน
        4. ช่วยกระตุ้นให้ครูผู้สอนให้มีการวางแผนจัดทำจุดมุ่งหมายและแนวปฏิบัติไปพร้อมๆกัน
       5. เป็นกระบวนการที่ท้าทายความสามารถของครูให้มีความคิดเชิงนามธรรมสูงในขณะปฏิบัติงาน

ข้อความนี้ถูกเขียนใน การนิเทศ ติดตามและประเมินผลการศึกษา คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น